เหมืองแร่โพแทช
05 พ.ค. 63เหมืองแร่โพแทช
เหมืองแร่โพแทช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จะเริ่มผลิตในปี 2564 กำลังการผลิตเต็ม (Capacity) เริ่มขุดด้วยวิธีห้องสลับเสาค้ำยัน แต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน สามารถผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ 1.235 ล้านตัน/ปี เมื่อครบ 25 ปีจะผลิตปุ๋ยได้ 17.33 ล้านตัน ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้ 8 แสนตัน แต่ต้องนำเข้าจากแคนาดา รัสเซีย และเบลารุส
ล่าสุด นายสมัย ลี้สกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ทำเหมืองแร่โพแทช ใน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางบริษัท อาเซียนโปแตช ได้เจรจากับพาร์ตเนอร์รายใหม่อีก 2 รายเพื่อเปิดโอกาสให้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ในส่วนของเหมืองใต้ดิน ซึ่งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 7,000 ไร่ และทำการฝึกอบรมรวมถึงทำการตลาด
การเปิดโอกาสให้พาร์ตเนอร์รายใหม่เข้ามาเจรจา เป็นผลมาจากต้องการให้มีบริษัทไทยเข้ามาเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่เป็นของประเทศไทยด้วย ขณะที่ดีลกับบริษัทเบลารุสคาลิ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ (State Enterprises) ไม่สามารถดำเนินการได้คล่องตัวในบางกรณี/บางเงื่อนไข ยกตัวอย่างเช่น การออกแบงก์การันตี
“เพราะถือว่าเป็นรัฐบาล แต่เมื่อมาหารือกับสถาบันการเงินของไทยก็จะมีประเด็น เพราะสถาบันการเงินค้ำประกันเงินกู้ยืมของบริษัท (corporate guarantee) ยิ่งเป็น state enterprises ทางด้านกฎหมายทำอะไรได้ไม่ง่ายเลย จึงกลายเป็นประเด็นที่ต้องเจรจากันใหม่ และด้วยเหตุที่งานเหมืองใต้ดินค่อนข้างซับซ้อนจะเสี่ยงไม่ได้”
สำหรับรูปแบบการหาพาร์ตเนอร์ หรือบริษัทร่วมทุนนั้น อาจจะใช้แนวทางการดำเนินธุรกิจ และบริหารจัดการเหมืองทั้งบนดินและใต้ดิน โดยบริษัทต่างชาติและไทยถือหุ้นร่วมกัน ผลที่จะตามมาคือไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ (knowhow transfer) ไปด้วย ภายใต้สัญญา 5 ปี สำหรับบริษัทต่างชาติร่วมกับไทย เพื่อพัฒนา (develop) และเรียนรู้เทคโนโลยีไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม การเจรจาพาร์ตเนอร์ใหม่ดังกล่าวอาจจะส่งผลให้แผนทำเหมืองแร่โพแทชที่ จ.ชัยภูมิ ต้องเปลี่ยนหรืออาจต้องล่าช้ากว่ากำหนดออกไปเล็กน้อย (จากเดิมเคยวางแผนการผลิตในปี 2561 ปริมาณ 3 แสนตัน ปี 2562 ผลิตปริมาณ 8 แสนตัน และปี 2563 ผลิตปริมาณ 1.1 ล้านตัน) ซึ่งขณะนี้ในส่วนของบริษัทเองยังคงอยู่ระหว่างการปรับปรุงอุโมงค์ตามแผน ควบคู่ไปกับการเตรียมพื้นที่ลงทุนโรงงานปั้นเม็ดปุ๋ยส่วนที่เป็นโพแทสเซียม (K) และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
“เหมืองจะเห็นผลผลิตได้อีกใน3 ปีนับจากนี้ (2564) มันก็จะทยอยไต่เพดานขึ้นไป คงใช้เวลา 4 ปี (2565) เต็มกำลังการผลิตพอดี เป้าเรา 1.235 ล้านตัน ในปีแรก ๆ คงเริ่ม 2-3 แสนตัน
ในปีถัด ๆ ไป ก็ขยับขึ้นไปอีก 3-5 แสนตัน ซึ่งเราจะขายเป็นเม็ดปุ๋ย (K) เลย ดังนั้นเมื่อเราขุดโพแทชขึ้นมาก็เข้าโรงงานปั้นเม็ดปุ๋ยได้เลย โรงงานจะเสร็จ 3 ปีจากนั้น นั่นคือเราก่อสร้างขึ้นพร้อมกับการขุดเหมือง”
นายสมัย กล่าวถึงความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 50 เมกะวัตต์ ได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว สเต็ปถัดไปคือการหาแหล่งเงินทุนเพื่อเข้ามาสนับสนุนการก่อสร้างโครงการทั้งหมด โดยบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC และ SINOHYDRO Corporation Limited ได้จัดตั้งกิจการร่วมค้า TRC-SINOHYDRO ประเทศจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ในด้านต่าง ๆ อย่างครบวงจร เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (thermal and renewable power plant) ระบบขนส่ง (mass transit rapid) และรถไฟความเร็วสูง (high speed train) เป็นต้น เพื่อเตรียมเข้าลงนามในสัญญารับเหมาก่อสร้างงานส่วนบนดิน มีมูลค่าโครงการกว่า 30,000 ล้านบาท ในโครงการเหมืองแร่โพแทช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ในฐานะบริษัทลูกของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิฯที่ชำนาญด้านวิศวกร (engineering) ยิ่งต้องมีส่วนเข้ามาพัฒนาเหมืองแร่ดังกล่าวด้วย แม้ว่าบริษัทไทยจะยังไม่เชี่ยวชาญสำหรับงานที่อยู่ใต้ดิน